วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ดอกมะลิ

มะลิ

มะลิ

มะลิ ชื่อสามัญArabian jasmine[2],[5], Seented Star Jusmine[6], Jusmine[8], Kampopot[8]
มะลิ ชื่อวิทยาศาสตร์Jasminum sambac (L.) Aiton[3],[5] จัดอยู่ในวงศ์มะลิ (OLEACEAE)[1]
มะลิ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะลิขี้ไก่ (เชียงใหม่), มะลิหลวง(แม่ฮ่องสอน) มะลิป้อม (ภาคเหนือ), มะลิซ้อน มะลิลา (ภาคกลาง), มะลิ มะลิลา มะลิซ้อน (ทั่วไป), เตียมูน (ละว้า-เชียงใหม่), ข้าวแตก (เงี้ยว-แม่งสอน), บักหลี่ฮวย เซียวหน่ำเคี้ยง (จีน), หม้อลี่ฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]
ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา…” หลาย ๆ คนคงจะคุ้นเคยกับเพลงพื้นบ้านเพลงนี้ เพราะในสมัยเด็ก ๆ เราคงเคยเล่นการละเล่นโบราณนี้พร้อมกับร้องเพลงนี้ตามไปด้วย แต่ต่อมาถูกนำไปใช้ในความหมายของอะไรก็ตามที่เดิมดูดี แต่พอเวลาผ่านไป สิ่งที่ดูดีนั้นก็เริ่มเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไป…

ลักษณะของต้นมะลิ

  • ต้นมะลิ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบประเทศเอเชีย เช่น อินเดีย คาบสมุทรอาระเบีย[7] โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เป็นทรงพุ่ม มีใบแน่น มีความสูงประมาณ 5 ฟุต แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบ ๆ ลำต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ (ในช่วงฤดูฝนเป็นวิธีการที่ดีที่สุด) และการตอนกิ่ง (เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดี) เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย และเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ชอบแสงแดดจัด การให้น้ำมากเกินไปจะทำให้ออกดอกน้อยลง และการตัดแต่งใบภายหลังการออกดอกชุดใหญ่ จะทำให้การออกดอกดีขึ้น (ทั้งจำนวนและขนาดของดอก)[1],[7]
ต้นมะลิ
  • ใบมะลิ ใบออกเรียงตรงข้าม เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปมนป้อม ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบมันเป็นสีเขียวแก่ ที่ท้องใบเห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นใบมีขนาดใหญ่ มีประมาณ 4-6 คู่ ก้านใบมีขนาดสั้นมากและมีขน[1],[8]
ใบมะลิ
  • ดอกมะลิ ออกดอกตามซอกใบและปลายกิ่ง ลักษณะของดอกมีทั้งดอกซ้อนและดอกไม่ซ้อน ดอกซ้อนเราจะเรียกว่า “มะลิซ้อน” ส่วนดอกที่ไม่ซ้อนจะเรียกว่า “มะลิลา” โดยทั้งสองชนิดจะเป็นดอกสีขาวและมีกลิ่นหอม ซึ่งดอกมะลิลาจะมีกลิ่นหอมมากกว่าดอกมะลิซ้อน[1] ขนาดของดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกมะลิลาปลายแยกเป็น 5-8 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ดอกที่อยู่ตรงกลางจะบานก่อน แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นหลอดสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ส่วนปลายแยกเป็นเส้น มีเกสรเพศผู้ 2 อันติดกับกลีบดอกในหลอดสีขาว และมักไม่ติดผล[8]
ดอกมะลิ
รูปดอกมะลิลา
ดอกมะลิลา
ดอกมะลิซ้อน
รูปดอกมะลิซ้อน
  • ผลมะลิ ผลเป็นผลสด[2]

สรรพคุณของมะลิ

  1. ดอกมะลิมีรสหอมเย็น มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ จิตใจชุมชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย ชูกำลัง (ดอก)[4]
  2. ชาวโอรังอัสลี ในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะใช้รากนำไปต้ม แล้วดื่มน้ำกินเป็นยาแก้เบาหวาน (ราก)[9]
  3. หากมีอาการนอนไม่หลับ ให้ใช้รากแห้งประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาฝนกับน้ำรับประทาน (ราก)[3]
  4. ดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกขมับ จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ดอก)[1] หรือจะใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดหัวก็ได้ (ราก)[1],[3]
  5. ช่วยแก้เจ็บตา (ดอก)[4]
  6. รากสดใช้ทำเป็นยาล้างตาแก้เยื่อตาอักเสบ (ราก)[1] ใบและรากใช้ทำเป็นยาหยอดตา (ใบ,ราก)[5] บ้างว่าใช้ดอกมะลิสดที่ล้างน้ำสะอาด นำมาต้มกับน้ำจนเดือนสักครู่ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ล้างตาแก้ตาแดง เยื่อตาขาวอักเสบ (ดอก)[10]
  7. ช่วยแก้อาการเจ็บหู (ดอกและใบ)[3]
  8. ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้รากสดนำมาทุบให้แหลกคั่วกับเหล้าจนร้อน ใช้พอกบริเวณที่ปวด (ราก)[3],[10] หากปวดฟันผุ ให้ใช้รากมะลิตากแห้งยำมาบดให้เป็นผง ผสมกับไข่แดงที่ต้มสุกแล้วจนได้ยาที่เหนียวข้น ใช้ใส่ในรูฟันผุ (ราก)[10]
  9. ดอกและใบมีรสเผ็ดชุ่ม เป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อขับความชื้น แก้ไข้หวัดแดด (ดอกและใบ)[3],[4] รากใช้ฝนกับน้ำเป็นยาแก้ร้อนใน (ราก)[5]
  10. ใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[1],[5]
  11. ตำรับยาแก้หวัดแดด มีไข้ ให้ใช้ดอกมะลิแห้ง 3 กรัม, ใบชาเขียว 3 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 9 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน (ดอก)[3]
  12. ดอกสดนำมาตำใส่พิมเสน ใช้สุมหัวเด็กแก้ซาง แก้หวัด แก้ตัวร้อน (ดอก)[4]
  13. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)[1]
  14. ดอกแก่ใช้เข้ายาหอมเป็นยาแก้หืด (ดอก)[5]
  15. ช่วยแก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากสด 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)[1],[4]
  16. รากใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก (ราก)[1]
  17. ดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกหรือเช็ดบริเวณเต้านมเพื่อให้หยุดการหลั่งของน้ำนมได้ (ดอก)[1]
  18. ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืดแน่น (ใบ)[1] หรือจะใช้ดอกมะลิแห้ง 3 กรัม, ใบชาเขียว 3 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 9 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย (ดอก)[3]
  19. ช่วยแก้อาการเสียดท้อง (ราก)[5]
  20. ใช้ดอกสดหรือดอกแห้งประมาณ 1.5-3 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้โรคบิด แก้อาการปวดท้อง (ดอก[1],[4], ดอกและใบ[3])
  21. ชาวโอรังอัสลี ในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะนำใบอ่อนใสแช่ในน้ำเย็น ใช้ดื่มกินแก้นิ่วในถุงน้ำดี (ใบ)[9]
  22. ช่วยบำรุงครรภ์รักษา (ดอก)[4]
  23. ช่วยขับประจำเดือนของสตรี (ราก)[5]
  24. ดอกสดนำมาตำใช้เป็นยาทารักษาแผลเรื้อรัง ทาฝีหนอง ผิวหนังผื่นคัน เยื่อตาอักเสบ และแก้ปวดหูชั้นกลาง (ดอก)[1],[4] ช่วยแก้ฝีหนอง (ดอกและใบ)[3]
  25. ใบสดนำมาตำใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แผลโรคผิวหนังเรื้อรัง แก้ฟกช้ำ และบาดแผล (ใบ)[1] หรือใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันมะพร้าวใหม่ ๆ นำไปลนไฟ ใช้ทารักษาแผล ฝีพุพอง (ใบ)[5]
  26. รากมีรสเผ็ดขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาชา ยาแก้ปวด ให้ใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวด (ราก)[1],[3]
  27. ใช้แก้กระดูกร้าว ฟกช้ำ ให้ใช้รากแห้ง 1.5 กรัม นำมาฝนกับเหล้ากิน (ราก)[3] หรือจะใช้รากสดตำพอกแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอกเนื่องจากการหกล้ม (ราก)[3]
  28. ใบมีสรรพคุณช่วยขับน้ำนมของสตรี (ใบ)[5]
  29. ตำรายาไทยจะใช้ดอกมะลิแห้งปรุงเป็นยาหอม โดยจัดให้ดอกมะลิอยู่ในพิกัดเกสรทั้ง 5, พิกัดเกสรทั้ง 7, พิกัดเกสรทั้ง 9 เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้ไข้ ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น (ดอก)[2],[4]
  30. นอกจากนี้ยังมีการนำดอกมะลิผสมเข้ายาหอมที่มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน เช่น ในตำรับยาหอมเทพจิต ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมนวโกฐ และยาหอมอินทจักร์ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นดอกมะลิ และยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแก้ไข้มิรู้จักสติสมปฤดี ยาประสะจันทน์แดง ยามหานิลแท่งทอง เป็นต้น (ดอก)[4]

ดอกซากุระ

ประวัติของดอกซากุระ

ปีนี้ฤดูหนาวยาวนานกว่าปกติแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิเพราะซากุระก็ผลิดอกเบ่งบานจนทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นสีชมพู ช่วงนี้จะมีเทศกาลOhanami หรือเทศกาลชมดอกซากุระ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยเฮอันและนิยมทำสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน ซากุระจะเริ่มบานจากทางตอนใต้ของประเทศคือOkinawa ไล่ขึ้นมา Kyushu ,Shikoku ,Honshu ส่วน Hokkaidoซึ่งอยู่เหนือสุดของญี่ปุ่นจะบานราว ๆ ต้นเดือนพฤษภาคมผู้คนจะติดตามข่าวพยากรณ์อากาศทางโทรทัศน์เพื่อจะได้ทราบว่าที่ไหนซากุระจะบานเมื่อไหร่ มีการสำรวจต้นซากุระตามที่ต่าง ๆทั่วญี่ปุ่นแล้วจะมีประกาศอย่างเป็นทางการถึงกำหนดที่ซากุระจะบานเส้นที่ลากเชื่อมจุดที่พยากรณ์ว่าซากุระจะบานในวันเดียวกัน เราเรียนกว่า “ซากุระเซนเซน” [Sakura Zensen]นอกจากนั้นตามสถานีรถไฟก็ยังเต็มไปด้วยโปสเตอร์เชิญชวนให้ไปเที่ยวตามสถานทีต่างๆ ทีมี่ดอกซากุระอีกด้วย พอถึงวัน ชมดอกซากุระ ผู้คนต่างจะพากันนำอาหารกล่อง สุราขนมต่าง ๆ โดยเฉพาะ Sakura-mochi เป็นโมจิที่ใช้ใบซากุระห่อ และดื่มกินเดินเล่นกันใต้ต้นซากุระจนถึงเวลากลางคืนเลยทีเดียว ดังสุภาษิตที่ว่า “Hana yoridango” (กินขนมดีกว่าชมดอกไม้)

ดอกซากุระ ในภาษาญี่ปุ่นนั้น เชื่อกันว่ากร่อนมาจากคำว่า ซะกุยะ (หมายถึง ผลิบาน) อันเป็นชื่อของเจ้าหญิง โคโนฮะนะซะคุยาฮิเม มีศาลบูชาของพระองค์อยู่บนยอดเขาฟูจิด้วย สำหรับพระนามของเจ้าหญิงองค์ดังกล่าวนั้น มีความหมายว่าเจ้าหญิงดอกไม้บาน และเนื่องจากซากุระเป็นดอกไม้ที่นิยมกันมากในญี่ปุ่นสมัยนั้น คำว่าดอกไม้ดังกล่าวจึงหมายถึงดอกซากุระนั่นเอง เจ้าหญิงองค์ดังกล่าวได้รับพระนามเช่นนั้น ก็เพราะมีเรื่องเล่ามาว่าทรงตกจากสวรรค์ มาบนต้นซากุระ ดังนั้น ดอกซากุระจึงถือเป็นดอกไม้ประจำชาติของญี่ปุ่น

ดอกลำดวน

ดอกลำดวน

ลำดวน


ลำดวน ชื่อสามัญ White cheesewood, Devil tree, Lamdman
ลำดวน ชื่อวิทยาศาสตร์Melodorum fruticosum Lour. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)
สมุนไพรลำดวน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หอมนวล (ภาคเหนือ) ส่วนภาคกลางเรียก “ลําดวน
ต้นลำดวน เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเป็นมงคลประจำจังหวัดศรีษะเกษ และดอกลำดวนยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เพราะมีเรื่องเล่าว่า สมเด็จย่าได้เสด็จไปเยี่ยมชาวจังหวัดศรีษะเกษ ทรงทอดพระเนตรเห็นดงต้นลําดวนที่ออกดอกงดงามและมีกลิ่นหอม และทรงพอพระทัย หลังจากนั้นดอกลำดวนจึงกลายเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ ทำนองเดียวกับดอกมะลิที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่นั่นเอง นอกจากนี้ดอกลําดวนยังเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษอีกด้วย

ลักษณะของลำดวน

  • ต้นลำดวน หรือ ต้นหอมนวล มีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[7] จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตรง แตกกิ่งใบจำนวนมาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือเป็นพุ่มเป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา เมื่อลำต้นแก่เปลือกต้นจะเป็นสีน้ำตาลอมดำ มีรอยแตกตามแนวยาวของลำต้น ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวสด ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบความชื้นสูง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงครึ่งวัน ชอบขึ้นในที่โล่งและมีแสงแดด พบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออก และภาคกลาง[2],[3],[5] และพบได้มากในจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากต้นลำดวนเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดศรีษะเกษ[6]
ต้นลำดวน
  • ใบลำดวน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลมหรือสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ผิวใบด้านบนเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีสีอ่อนกว่า เส้นกลางใบเป็นสีออกเหลืองนูนเด่นทั้งสองด้าน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร[3]
ใบลำดวน
  • ดอกลำดวน หรือ ดอกหอมนวล ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อแบบกระจุกประมาณ 2-3 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ลักษณะเป็นรูปไข่ป้อมถึงรูปเกือบกลม ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง ดอกมีกลีบ 6 กลีบ กลีบดอกหนาแข็ง สีเขียวปนเปลือง และมีขน แยกเป็น 2 วง ชั้นนอกมี 3 กลีบ กลีบแผ่แบน ลักษณะของกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกวงใน ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง โดยมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในงุ้มเข้าหากันลักษณะเป็นรูปโดม มีขนาดเล็กกว่า แต่จะหนาและโค้งกว่ากลีบชั้นนอก โดยจะมีจะขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.9 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ขนาดเล็ก เกสรเพศผู้และรังไข่มีจำนวนมากอยู่บนฐานสั้น ๆ รังไข่ ไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก มีด้วยกัน 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปเกือบกลม ปลายกลีบมน เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ส่วนก้านดอกยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม และแต่ละต้นจะมีช่วงที่ดอกบานอยู่ประมาณ 15 วัน[3],[5]
ลำดวน
ลําดวน
  • ผลลำดวน ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 15-27 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี รูปไข่ หรือรูปกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 นิ้ว และยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และผลสุกมีสีน้ำเงินดำ มีคราบขาว ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานอมเปรี้ยว ส่วนก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[2],[3],[5]
ผลลำดวน
ลูกลำดวน

สรรพคุณของลำดวน

  1. ดอกแห้งมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (ดอกแห้ง)[1],[3]
  2. ดอกแห้งเป็นยาบำรุงโลหิต (ดอกแห้ง)[1],[3]
  3. ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอกแห้ง)[1],[3]
  4. ดอกใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียน (ดอกแห้ง)[1],[3],[5]
  5. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ดอกแห้ง)[3]
  6. ช่วยแก้อาการไอ (ดอกแห้ง)[4]
  7. ดอกลำดวนแห้งจัดอยู่ใน “พิกัดเกสรทั้งเก้า” (ประกอบไปด้วย เกสรดอกบัวหลวง ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกสารภี ดอกลำเจียก และดอกลําดวน) ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเหลีบ ช่วยบำรุงหัว แก้พิษโลหิต แก้ลม (ดอก)[1],[3],[4]
หมายเหตุ : ตามตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้เนื้อไม้และดอกแห้ง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้ลมวิงเวียน และเป็นยาแก้ไข้ (เนื้อไม้และดอกแห้ง)[3],[4] (แต่ตำรายาไทยจะใช้แต่ดอก) ส่วนข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ระบุให้ใช้เกสรลำดวนเป็นยา ซึ่งเกสรจะมีสรรพคุณเป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจ หากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นจะเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง และเป็นยาแก้ลม (เกสร)[2]
ดอกลำดวนแห้ง

ประโยชน์ของลำดวน

  1. ผลสุกของลำดวนมีสีดำ มีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานได้[3],[6]
  2. ดอกมีกลิ่นหอม รสเย็น นอกจากจะจัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งเก้าแล้ว ยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมอีกด้วย[3]
  3. ดอกลําดวนมีขนาดใหญ่และงดงามกว่าดอกนมแมว จึงนิยมนำมาใช้บูชาพระและใช้แซมผม อีกทั้งหญิงไทยในสมัยก่อนก็ชื่อลำดวนกันทั่วไป[6]
  4. ดอกสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08[7]
  5. นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามสวน เพราะต้นลำดวนมีพุ่มใบสวย ดอกสวยมีกลิ่นหอม และต้นลำดวนยังเป็นพรรณไม้ที่ในวรรณคดีไทยหลาย ๆ เรื่องกล่าวถึง เช่น ลิลิตพระลอ รามเกียรติ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ อิเหนา เป็นต้น โดยจะนิยมนำมาปลูกสวนสาธารณะร่วมกับไม้ดอกหอมชนิดอื่น ๆ[5],[6]
  6. ในด้านของความเชื่อ คนไทยเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นลำดวนหรือเป็นเจ้าของต้นลำดวน จะช่วยดึงดูดความรัก ช่วยเสริมดวงทางเสน่ห์เมตตา ทำให้มีแต่คนคิดถึงในแง่ดี ทำให้เป็นคนที่น่าจดจำ ใคร ๆ ก็มิอาจลืม และยังเชื่อด้วยว่ากลิ่นหอมของลําดวน สามารถช่วยผ่อนคลายอารมณ์ทางจิตให้สงบและมีความใจเย็นมากขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้หญิงและควรปลูกในวันพุธ เพราะลำดวนเป็นไม้ของผู้หญิง โดยให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน[8]
  7. บางข้อมูลระบุว่าเนื้อไม้ของต้นลำดวนมีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้ และนำมาใช้ทำฟืนได้ดี


วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ดอกบานไม่รู้โรย

ลักษณะของบานไม่รู้โรย


  • ต้นบานไม่รู้โรย เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้[9] บ้างก็ว่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และในอเมริกา[7] โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กมีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านบริเวณยอดต้น กิ่งก้านเป็นเหลี่ยมและมีร่อง ลำต้นอ่อนมีขนสีขาวปกคลุม ตามข้อต้นพองออกเล็กน้อย ข้อต้นเป็นสีแดง แต่บางต้นข้อต้นก็เป็นสีเขียว นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แม้เมล็ดที่ร่วงหล่นลงใต้ต้นก็ยังสามารถนำไปปลูกเป็นต้นใหม่ได้โดยไม่ต้องเพาะ โดยให้ปลูกไว้กลางแจ้งที่ได้รับแสงแดดแบบเต็มที่ และสามารถปลูกในดินชนิดใดก็ได้ แต่ควรเติมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยผสมลงไปในดินก่อนปลูก ส่วนการรดน้ำก็ให้รดตามความจำเป็น เพราะพรรณไม้ชนิดนี้จะทนแล้งได้ดีกว่าแฉะ จึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวันจนน้ำท่วมขัง เพราะจะทำให้ต้นเน่าตายได้[1],[2],[3],[7] โดยสายพันธุ์ที่นิยมใช้ปลูกมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ Tall Mixture (เป็นพันธุ์ต้นสูง มีความสูงของพุ่มประมาณ 18 นิ้ว มีทั้งสีขาวและสีแดงอมม่วง) และพันธุ์ Buddy (พุ่มสูงเพียง 9 นิ้ว ดอกเป็นสีแดงอมม่วง เหมาะที่จะนำมาปลูกเป็นกลุ่มก้อนเพื่อประดับอาคารหรือปลูกเป็นพืชคลุมดิน)[7]
ต้นบานไม่รู้โรยดอกขาว
  • ใบบานไม่รู้โรย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ สวนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบมีขนสีขาว เนื้อใบมีลักษณะนิ่ม ก้านใบสั้น ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนสีขาว[1],[3]
ใบบานไม่รู้โรย
  • ดอกบานไม่รู้โรย ออกดอกเป็นกระจุกทรงกลมบริเวณปลายกิ่ง มีดอกย่อยอัดกันแน่น แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 2-3 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกลมขนาดเท่าผลพุทรา ดอกเป็นสีขาว สีแดงแก่ สีม่วง หรือสีชมพูอ่อน (แต่จะใช้ดอกขาวมาเป็นยา เพราะสีขาวเป็นสีที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำยาแล้วจะไม่มีสีอะไรมาเจือปน) มีลักษณะแข็ง กลีบดอกมีขนาดเล็กเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ทั้งดอก ปลายกลีบแหลมคล้ายขนแข็ง ๆ และมีใบประดับหรือกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มีอยู่ด้วยกัน 2 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร อีกทั้งกลีบดอกยังไม่หลุดร่วงได้ง่าย แม้ว่าดอกจะแก่หรือแห้งแล้วก็ตาม จึงเป็นที่มาของชื่อ “บานไม่รู้โรย[1],[2],[8]
ดอกบานไม่รู้โรยสีขาว
  • ผลบานไม่รู้โรย ผลเป็นผลแห้ง เป็นกระเปาะ ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีขนาดประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดมีลักษณะแบนหรือเป็นรูปไข่[1],[8]

สรรพคุณของบานไม่รู้โรย

  1. ทั้งต้นและรากมีรสเย็นขื่น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กษัย (ทั้งต้นและราก)[1],[2]
  2. ดอกและต้นมีรสหวาน ขื่น ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาแก้ตับร้อน หรือธาตุไฟเข้าตับ ช่วยแก้ตาเจ็บ ตามัว อันเนื่องจากธาตุไฟเข้าตับ (ต้น,ดอก)[3]
  3. ใช้แก้เด็กตัวร้อนตาเจ็บ ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 10-14 ดอก นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ผสมกับฟังเชื่อมแห้ง นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยา (ดอก)[4]
  4. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้ลมขึ้นศีรษะ ทำให้เวียนศีรษะ ด้วยการใช้ดอก 10 กรัม และหญ้าแซ่ม้า 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[3],[4]
  5. ใช้แก้เด็กเป็นโรคลมชัก ด้วยการใช้ดอก 10 ดอก ผสมกับตั๊กแตนแห้ง 7 ตัว (Oxya chinensis thumb.) นำมาตุ๋นเป็นยารับประทาน (ดอก)[4]
  6. ช่วยแก้อาการไอ (ทั้งต้นและราก[2], ดอก[4]) แก้อาการไอเป็นเลือด เลือดออกตามทวารทั้งเก้า (ดอกและต้น,ทั้งห้าส่วน)[3],[9] แก้ไอกรน (ดอก)[4]
  7. ใช้แก้หืดหอบ ไอหืด ไอหอบ หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ดอก 10 ดอก นำมาต้มผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือให้ใช้สารที่สกัดได้จากดอกทำเป็นยาฉีด โดยใช้ครั้งละ 0.3 ซีซี ถ้าหากมีเสมหะมาก ให้เพิ่มปริมาณได้อีกตามที่แพทย์สั่ง (ดอก)[3],[4]
  8. ช่วยขับเสมหะ (ดอก)[3]
  9. ช่วยรักษาโรควัณโรคในปอด (ดอก)[3]
  10. ช่วยรักษาโรคบิด (ทั้งต้นและราก,ดอก)[2],[3],[4] ช่วยแก้บิดมูก ให้ใช้ดอก 10 ดอก นำมาต้มกับน้ำผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้ดื่มเป็นยา (ดอก)[4]
  11. ทั้งต้นและราก นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ (ทั้งต้นและราก,ดอก)[1],[2],[3],[4]
  12. ช่วยแก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ด้วยการใช้ดอก 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานบ่อย ๆ (ดอก)[3],[4]
  13. ทั้งต้นและรากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้กามโรค แก้หนองใน (ทั้งต้นและราก)[1],[2],[3]
  14. ทั้งต้นและราก ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้มุตกิดหรือกขาว ช่วยขับระดูขาวของสตรี ช่วยขับระดูขาวให้แห้ง (ทั้งต้นและราก)[1],[2],[3]
  15. ดอกใช้เป็นยาบำรุงตับ (ดอก)[4]
  16. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษต่าง ๆ (ราก)[4]
  17. ดอกใช้เป็นยารักษาแผลผื่นคัน ใช้รักษาฝีประคำร้อย (ดอก)[4]
  18. ใช้ต้นสด กะปริมาณตามความเหมาะสม ใช้ภายนอกนำมาตำใช้พอกเป็นยาแก้ฝีหนอง (ต้น)[3]
  19. ตำรับยารักษามะเร็ง ระบุให้ใช้ บานไม่รู้โรยดอกขาวทั้งห้าส่วน จำนวน 4 บาท, ขมิ้นอ้อย 4 บาท, ข้าวเย็นเหนือ 4 บาท, ข้าวเย็นใต้ 4 บาท, ชุมเห็ดเทศทั้งห้า 4 บาท, ทองพันชั่งทั้งห้าส่วน 4 บาท, ยาดำ 5 บาท, และฟ้าทะลายโจร 20 บาท นำมาต้มรับประทานหลังอาหารวันละ 1 ครั้ง (ทั้งห้าส่วน)[11]
  20. ตำรับยารักษามะเร็งมดลูกและมุตกิดระดูเสียของสตรี ระบุว่าให้ใช้ บานไม่รู้โยดอกขาว บานไม่รู้โรยดอกแดง แก่นฝาง รากมะละกอ รากเข็มแดง เถาอีปล้อง เถามวก หญ้าไซ อย่างละ 3 บาท และสารส้มอีก 2 สลึง นำมาต้มกินเป็นยาก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ถ้วย หรืออีกตำรับยารักษามะเร็งมดลูก ระบุว่าให้ใช้ บานไม่รู้โรยดอกขาว และบานไม่รู้โรยดอกแดง กระดูกกูรำ ก้องแกลบ ขันทองพยาบาท งวงตาล เถาวัลย์เปรียง รากกล้วยตีบ รากกำจาย รากผักหนาม รากหนอนตายอยาก สารส้ม ดินประสิว อย่างละ 1 บาท และข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ อย่างละ 10 บาท นำมาต้มกินเป็นยาเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ถ้วยชา (ดอก)[11]
  21. ตำรับยากระทุ่งไข้แก้เหือดหัดในเด็ก ระบุว่าให้ใช้ ต้นบานไม่รู้โรยดอกขาว ผลประคำดีควาย เปลือกทองหลางใบมน รากก้างเปลา รากฟักเขียว รากไมยราบ ย่านาง หัวคล้า หัวปรง และหัวว่าวใหญ่ อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกินเป็นยาเช้าเย็น จะช่วยกระทุ้งพิษ ดับพิษห้ามกำเริบ แล้วจึงค่อยกินยาแก้ไข้ต่อไป (ต้น)[12]
  22. ตำรับยาแก้มดลูกเคลื่อนหรือกะบังลมเคลื่อน ระบุว่าให้ใช้ รากและต้นของบานไม่รู้โรย โคกกระสุน โคกกระออม รากพุมเรียง รากมะดัน รากขนุนละมุด และใบหนาด หนังอย่างละ 4 บาท นำทั้งหมดมาใส่ในหม้อต้ม ต้มกินเป็นยาก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ถ้วยชา โดยให้รับประทานติดต่อกัน 15 วัน มดลูกหรือกะบังลมจะหดกลับเข้าสู่ที่ตั้งตามธรรมชาติ (รากและต้น)[12]

วิธีใช้สมุนไพรบานไม่รู้โรย
  • การนำดอกมาใช้เป็นยา ให้เลือกดอกแก่ แล้วนำไปตากให้แห้ง และเอาก้านดอกออก เก็บดอกไว้ใช้เป็นยา[4]
  • หรือจะนำดอกมาล้างให้สะอาด นำไปตากให้แห้ง แล้วนำมาคั่วหรืออบให้แห้ง เก็บไว้ในขวดให้มิดชิดและปิดฝาให้แน่น[5]
  • สำหรับวิธีการใช้ ให้นำดอกประมาณ 1-2 ดอก มาใส่ในแก้วน้ำ แล้วเทน้ำร้อนที่เดือดแล้วลงไป ทิ้งไว้ให้ตัวยาละลายออกมาประมาณ 15-20 นาที แล้วค่อยดื่ม หรือจะใช้วิธีการต้มเดือดก็ได้ จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้ตาเจ็บ แก้อาการไอ ช่วยระงับหอบหืด บำรุงตับ แก้บิด แผลผื่นคัน และฝีประคำร้อยได้[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของบานไม่รู้โรย

  • ดอกบานไม่รู้โรยพบว่ามีสาร Gomphrenin I, II, III, V, VI, Amaranthin, Isoamaranthin และในเมล็ดยังพบน้ำมันอีกด้วย[3]
บานไม่รู้โรยดอกสีขาว

ประโยชน์ของบานไม่รู้โรย

  1. นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ชาวเกาะมอลัคคัส ในหมู่เกาะชวา ยังใช้บานไม่รู้โรยมารับประทานเป็นอาหารจำพวกผักชนิดหนึ่งอีกด้วย[2]
  2. ดอกสามารถนำมาใช้ทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ ทำบุหงา ร้อยพวงมาลัย ร้อยอุบะ ใช้จัดเป็นพานพุ่ม ทำเป็นดอกไม้แห้งเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม ทำเป็นสินค้าส่งออกได้ หรือนำมาใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ สามารถใช้ได้กระทั่งงานมงคลจนกระทั่งงานศพ[6],[7]
  3. พรรณไม้ชนิดนี้เป็นที่นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับกันทั่วไป เนื่องจากสีสันของดอกมีความสวยงาม ปลูกเลี้ยงได้ง่าย และสามารถตัดแต่งเป็นทรงพุ่มได้ โดยนิยมนำมาปลูกประดับตามบ้าน ตามสวน ริมทางเดิน ริมถนน หรือใช้ปลูกตามริมทะเล[2],[4],[7],[8]
  4. บานไม่รู้โรยเป็นไม้มงคลนาม มีความเชื่อว่าหากนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน จะช่วยเสริมดวงในเรื่องของความรักความผูกพันของคู่สามีภรรยา ทำให้มีความรักที่มั่นคงและยั่งยืน ปราศจากความโรยราและไม่ผันแปรตลอดไป[10]